วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554

La 703 เตรียมสอบอ.ภูริชญา By Took-Ka-Ta

                                                                                                                                 Took-Ka-Ta มร.ขอนแก่น รุ่น 5
ปฏิรูปการเมืองการปกครองเพื่อพัฒนาการกฎหมายมหาชน
                เป้าหมายหลักของรัฐธรรมนูญระบอบประชาธิปไตยเพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิ เสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ และป้องกันที่จะไม่ให้ผู้ปกครองใช้อำนาจจนไม่มีขอบเขต  ใช้อำนาจอย่างอำเภอใจ
ปัจจุบันประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญทั้งหมด 18 ฉบับ  ฉบับล่าสุดประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2550
การรัฐประหารเป็นปัญหาของพัฒนาการของกฎหมายมหาชน   เพราะกฎหมายมหาชนนั้นจะพัฒนาไปควบคู่กับพัฒนาทางการเมือง    ในเมื่อการเมืองไม่พัฒนาสะดุดหยุดลงตลอดเวลาจากการใช้อำนาจหรือการทำรัฐประหารนั้น    ก็จะทำให้พัฒนาการของรัฐธรรมนูญในส่วนของกฎหมายมหาชนก็จะไม่พัฒนา     เห็นได้จากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ  เปลี่ยนมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2549 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกิดจากความต้องการของผู้ยึดอำนาจ  เป็นกฎหมายเผด็จการ และเปลี่ยนมาเป็นรัฐธรรมนูญปี 2550 ฉบับปัจจุบัน ซึ่งเห็นว่ามีการซ้อนความเป็นกฎหมายที่เป็นเผด็จการ จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2549  อยู่ ทำให้กฎหมายมหาชนซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองไม่พัฒนาเพราะมีหลายบทบัญญัติมาตราที่ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ   ขัดต่อหลักประชาธิปไตย   
                หากพิจารณาจากโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ และเหตุต่างๆ ประกอบกัน จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญ 2549(ฉบับชั่วคราว) เป็นจุดด่างพร้อยของรัฐธรรมนูญไทยมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา เนื่องด้วยเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นระบอบประชาธิปไตย  แต่เป็นอำนาจเผด็จการ  เพราะไม่ใช่โดยประชาชนเพื่อประชาชนและของประชาชน    แต่หากจะพิจารณาโครงสร้างของการแบ่งแยกองค์การในการใช้อำนาจอธิปไตยแล้ว รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีความเป็นรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภายิ่งกว่า
จากการวิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แล้วจะพบว่า ยังมีการซ้อนความเป็นกฎหมายที่เป็นเผด็จการ (กฎหมายแบบ will) จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2549  ไว้หลายประการ  คือเอาความต้องการของผู้ปกครองเป็นใหญ่  รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ไม่มีส่วนยึดโยงกับประชาชน    โดยให้ข้าราชการประจำมาร่างรัฐธรรมนูญ   ซึ่งเห็นว่า สนช , สสร , กมธ เป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด จากรัฐธรรมนูญ ปี 2550  ประชาชน ไม่มีส่วนร่วมในการร่าง    ต่างจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 อย่างสิ้นเชิง   จึงมีคำกล่าวว่า “ชนชั้นใดร่างกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น”  เป็นกฎหมายระบบเผด็จการ  สะท้อนให้เห็นว่า “ อำนาจ คือธรรม” คือสิ่งที่ถูกต้องแม้จะไม่ชอบด้วยธรรมและเหตุผล    ซึ่งกฎหมายแบบนี้ประชาชนไม่ต้องการ   
ขัดต่อหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม    ซึ่งในหลักนิติรัฐหมายถึง รัฐที่อยู่ภายใต้กฎหมายโดยใครจะมีอำนาจอย่างไร เพียงใด     จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้โดยทุกประเทศจะมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดและจะมีการกำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชน    กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจทางปกครองไว้ในรัฐธรรมนูญ   
ขัดต่อหลักนิติธรรม  คือไม่ได้สร้างดุลยภาพในการใช้อำนาจรัฐ    ไม่ได้สร้างดุลยภาพในทางกฎหมายมหาชน   ไม่สร้างดุลยภาพในการที่จะประสานความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะซึ่งเป็นประสิทธิภาพการบริหารงานของรัฐกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจแต่อย่างใด    ทั้งขัดแย้งกับหลักกฎหมายมหาชน  ในระบอบประชาธิปไตย  ระบบรัฐสภา ในหลายมาตราซึ่งควรได้รับการแก้ไข    กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับอำนาจรัฐ   การปฏิรูปเป็นการปรับเปลี่ยนของเดิมที่มีอยู่ให้เหมาะกับสภาพสังคมในปัจจุบัน    ซึ่งการปฏิรูปการเมืองการปกครองเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจรัฐที่ถือว่าเป็นอำนาจสูงสุด    และการปฏิรูปอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายด้วย   ข้าพเจ้าขอเสนอปัญหาที่พบในรัฐธรรมนูญและแนวทางแก้ไข ในประเด็นดังต่อไปนี้
                1.ประเด็นในเรื่องหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190
                        กรณี คำแถลงการณ์ร่วมไทย กัมพูชานั้นเป็นไปตามมติของศาลโลกเท่านั้น ไม่ต้องด้วยกรณีตามมาตรา 190
                        ปัญหาที่ชัดเจนของบทบัญญัติมาตรา 190  ได้แก่ กรณีที่มีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย- กัมพูชา  เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190 วรรค 2  ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา หรือไม่
                                ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้หยิบยกมาวินิจฉัย มี 2 ประเด็น คือ           
                คำแถลงการณ์ร่วมฯ มีลักษณะเป็น "หนังสือสัญญา" หรือเป็น "สนธิสัญญา" ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และ แถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญาที่ผลเป็นการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจอธิปไตยตามความหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสอง ที่ต้องให้รัฐสภาอนุมัติ เมื่อแถลงการณ์ร่วมได้กระทำไปโดยที่รัฐสภาไม่ได้อนุมัติ เป็นผลให้เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ   
                จากคำวินิจฉัยดังกล่าว ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่สมเหตุผล เพราะไม่มีการวางหลักเกณฑ์ในการตีความหมายของคำว่า "หนังสือสัญญา"  และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการก้าวล่วงอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ     ไม่เคารพต่อหลักความเคารพในเรื่องความเชี่ยวชาญของฝ่ายบริหาร ทั้งเห็นว่า มาตรา 190 วางโครงสร้างให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีการควบคุมการกระทำของฝ่ายบริหารในเรื่องดังกล่าวที่มากเกินไป    เป็นการเขียนกฎหมายที่ทำให้ขาดดุลยภาพในเรื่องของหลักการแบ่งแยกอำนาจ   
                                ปัญหาอีกประการ คือทำให้ฝ่ายบริหารเกิดความลังเลในกิจการต่างประเทศ กระบวนการตรวจสอบที่เป็นอยู่จะส่งผลให้ผลประโยชน์อันเกิดจากกิจการต่างประเทศเสียไปเพราะความล่าช้า  ฝ่ายบริหารไม่สามารถใช้ "ความเชี่ยวชาญ" ที่ตนมีในการตัดสินใจทางเลือกในการดำเนินกิจการ    ก่อนที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 (ช่วงเวลาของรัฐธรรมนูญ 40) ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นปัญหาความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างอำนาจเช่นนี้    การทำความตกลงระหว่างประเทศที่ต้องให้รัฐสภาอนุมัติตามรัฐธรรมนูญปี 2540 มีเพียง 2 เงื่อนไข ได้แก่
-หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือ
-จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา 
เห็นว่า บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้อำนาจในการทำ "หนังสือสัญญา" เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ข้อยกเว้นที่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้มีอำนาจ  มีจำกัด และชัดเจน โครงสร้างความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจมีความสมดุล    ทั้งในเรื่องอำนาจของฝ่ายบริหารและการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร
                ปัญหารัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 190 วรรค 2 เป็นผลมาจากการใช้ กลไกทางกฎหมายที่ไม่ทำให้เกิดดุลภาพในอำนาจระหว่างบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ
ทางแก้ไขปัญหา  เห็นว่า เงื่อนไขการใช้อำนาจและกระบวนการตรวจสอบการทำ "หนังสือสัญญา" ของฝ่ายบริหารนั้นสมควรกลับไปใช้รูปแบบของมาตรา 224 รัฐธรรมนูญ 2540 เพราะสร้างดุลยภาพในการใช้อำนาจและตรวจสอบถ่วงดุล  ไม่ขัดหลักแบ่งแยกอำนาจตามหลักกฎหมายมหาชนมากกว่า
                2.ประเด็นการยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคตามมาตรา 237 ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง ผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดถูกลงโทษไปด้วย ขัดกับหลักนิติธรรม  เพราะแม้รัฐธรรมนูญจะยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในหมวด 3 แต่ก็ทำลายหลักการประกันสิทธิทางการเมืองของบุคคลในมาตรา 237    ที่กำหนดให้การกระทำความผิดของบุคคลคนเดียวนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองทั้งพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลที่เป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย แม้บุคคลนั้นจะไม่ได้กระทำความผิดก็ตาม
                ข้าพเจ้า เห็นว่า ควรยกเลิก บทบัญญัติการยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง เพราะไม่สร้างดุลยภาพทางกฎหมายมหาชน
                3.ประเด็นในเรื่องอำนาจเบ็ดเสร็จของคณะกรรมการเลือกตั้งตามมาตรา 239 แม้มาตรา 3   ของรัฐธรรมนูญจะประกาศยอมรับหลักการแบ่งแยกอำนาจ แต่หลักการดังกล่าวก็ได้ถูกทำลายลงในมาตรา 239    ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลก่อนประกาศผลการเลือกตั้งและให้คำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุด ซึ่งเท่ากับให้อำนาจองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการการเลือกตั้งเป็นศาลได้ในตัวเอง  ขัดกับหลักนิติรัฐและหลักการแบ่งแยกอำนาจ   องค์กรอิสระอาจกลายเป็นองค์กรเผด็จการที่มีอำนาจมากไป  
ข้าพเจ้าเห็นว่า ควรแก้ไขโดยมิให้มีบทบัญญัติเบ็ดเสร็จแก่ กกต.โดยเพิ่มเติมว่า กรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิก่อนการประกาศการเลือกตั้งจะต้องให้ศาลเป็นผู้ตรวจสอบก่อน หากเห็นว่าล่าช้าก็สามารถดำเนินการด้วยวิธีเฉพาะเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้รวดเร็วทันต่อการเลือกตั้ง
                4.ประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรมในบทเฉพาะกาล (ตลอดกาล) ตามมาตรา 309
                มาตรา 309 รัฐธรรมนูญปี 2550 (ซึ่งโยงกับรัฐธรรมนูญปี 2549 (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 36 และ 37) รับรองว่า ประกาศ คำสั่ง รวมถึงการกระทำที่ปฎิบัติตามคำสั่งและประกาศ ย่อมชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะกระทำ "ก่อน" หรือ "หลัง" ใช้รัฐธรรมนูญปี  2550 ซึ่งย่อมส่งผลให้องค์กรเฉพาะกิจอย่าง คตส. หรือ คมช. ที่ได้กระทำการใดๆ โดยอาศัยประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารนั้นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายเเละรัฐธรรมนูญต่อไป เเม้ว่าการกระทำนั้นจะกระทำขึ้นหลังจากที่รัฐธรรมนูญ 2550 มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญเเล้วก็ตาม     
ข้าพเจ้าเห็นว่า หากยังยอมรับให้มีการตรากฎหมายลักษณะเช่นนี้อยู่ต่อไป จะมีผลเป็นการบั่นทอนหลักนิติรัฐ นิติธรรม  หลักความได้สัดส่วน  การเขียนกฎหมาย เช่นนี้เท่ากับเป็นบทบัญญัติที่ตัดอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตุลาการ อันเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของหลักนิติรัฐ อันจะตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจอธิปไตยให้เกิดดุลยภาพ และยังเป็นบทบัญญัติที่ปฏิเสธการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลจากการใช้อำนาจอันมิชอบธรรมอีกด้วย
                ดังนั้น แม้มาตรา 6  ของรัฐธรรมนูญจะประกาศหลัก "ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ"  แต่หลักการดังกล่าวก็ถูกทำลายลงในมาตรา 309     ข้าพเจ้า เห็นว่า ควรยกเลิกมาตรา 309
                5. ปัญหาคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา
5.1. ประเด็นเรื่องที่มาของวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 111 ถึง 114 ซึ่งกำหนดให้มาจากการเลือกตั้ง 76 คน  และการแต่งตั้ง 74 คน
                วุฒิสภาที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 เมื่อให้มากลั่นกรองการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะขัดแย้งกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่ให้ความสำคัญกับตัวแทนของประชาชน และหากให้ วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนนักการเมืองด้วยแล้วจะไม่ยุติธรรมกับประชาชนที่เลือกผู้แทนของตนเข้ามา แต่กลับถูกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาถอดถอนได้                                                                    
               ดังนั้น ที่มาของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งด้วยกันทั้ง 2 สภา เป็นการเขียนที่เหมาะสมแล้ว ต่างกับรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ซึ่งกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่วุฒิสภามาจากระบบผสม คือ จากการเลือกตั้ง 76 คน และสรรหา 74 คน ทำให้มองเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 มีความเป็นประชาธิปไตยในระดับที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540
จึงควรให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ 2550 กำหนดให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นไปตามหลักระบอบประชาธิปไตยมากที่สุด
5.2. ประเด็นเรื่องคุณสมบัติของผู้ไปสมัคร สว. เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญหรือ
กฎหมายหรือไม่นั้น
                การดำรงตำแหน่ง สว. ตามประเด็นมาตรา 115 (9) ต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น...หรือเคยเป็นแต่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วยังไม่เกิน 5 ปี    จากข้อเท็จจริง คือ สว. ชุดเดิมหมดวาระวันที่ 22 มีนาคม 2549  แต่ก็ต้องทำหน้าที่ต่อไปจนกว่า สว. ชุดใหม่จะมารับหน้าที่  อยู่ในระหว่างการเลือกตั้งเพราะรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ให้ สว.มาจากการเลือกตั้ง จำนวน 200 คน  แต่เกิดการรัฐประหารก่อนที่จะมีการเข้ามาทำหน้าที่   
พิจารณาตามระยะเวลา   โดยนับจากวันที่ 22 มีนาคม 2549 ถึงวันประกาศให้มีการสรรหาคือวันที่
19 กุมภาพันธ์ 2554 ระยะเวลายังไม่พ้น 5 ปี    หรือแม้จะเริ่มนับเวลาจาก 19 กันยายน 2554 วันที่ทำรัฐประหาร ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554    ก็ยังไม่พ้น 5 ปี     ดังนั้น สว.ที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็ต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งเป็น สว. สรรหาในวาระต่อไป    
แต่ปรากฏว่ามีรายชื่อสว. สรรหา ปี 2554 บางท่าน ซึ่งจะถูกต้องห้ามดำรงตำแหน่ง สว. สรรหาเพราะเคยดำรงตำแหน่ง สว. ชุดเดิมและยังไม่พ้น 5 ปี  โดยเรื่องนี้มีการร้องเรียนต่อ กกต. แต่ กกต. เห็นว่าไม่ขัดต่อกฎหมาย  แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า ขัดต่อกฎหมาย  กกต. ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยพิจารณาหลักเกณฑ์คุณสมบัติที่กฎหมายเขียนไว้ใน มาตรา 115 (9)   เป็นการเลือกปฏิบัติ หรือ 2 มาตรฐานในการใช้กฎหมาย
5.3. ปัญหาเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา ที่มีส่วนมาจากฝ่ายตุลาการมากเกินไป เสียสมดุลตามหลักสัดส่วน    การให้คนเพียง ๗ คน มีอำนาจเลือก สว.จำนวนเกือบเท่ากับประชาชนทั่วทั้งประเทศเลือก    นี่เป็นการขัดกับหลักการเสมอภาคของบุคคลตามระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน
การที่สถาบันตุลาการได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสรรหาสว. ทำให้เห็นย้อนไปได้ว่า รัฐประหารครั้งที่ผ่านมาและ การร่าง รธน.๕๐ เป็นผลพวงมาจาก การร่วมมือของพวกนายทหารคมช.  ตุลาการ และบรรดา พวกอภิสิทธิชนของสังคมไทย ตามหลัก "ชนชั้นใด ร่างกฎหมาย ก็แน่ไซร้ เพื่อ ชนชั้นนั้น" ทั้งกลุ่มอภิสิทธิชนดังกล่าว ได้สืบทอดอำนาจของตนต่อไป โดยผ่านร่างทรงคือ สว.จาก การสรรหานั่นเอง
5.4. ปัญหาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การสรรหา ตาม มาตรา 114 ว.2 ว่าเป็นการให้ดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหามากเกินไป  ไม่มีการตั้งกฎเกณฑ์ที่ใช้ในสรรหาที่ชัดเจน    คณะกรรมการสรรหาใช้ความรู้สึกเป็นที่ตั้งในการสรรหา    ลักษณะเช่นนี้อาจทำให้เกิดการทำตามอำเภอใจได้
5.5. อำนาจเบ็ดเสร็จของคณะกรรมการสรรหา  เมื่อมีดุลพินิจอย่างไรแล้ว   ก็ไม่สามารถที่จะโต้แย้งคัดค้านดุลพินิจได้   เพราะผลการพิจารณาสรรหาของคณะกรรมการสรรหาให้ถือเป็นที่สุด ตาม ม.130 ว. แรก ของพรบ.ป.รธน. ว่าด้วยการเลือกตั้งและการสรรหาสว.   
จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า แม้แต่คำพิพากษาของศาลยังอุทธรณ์ ฎีกา ได้    แต่ทำไมดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหาเป็นที่สุด   เห็นว่าเป็นการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเกินไป
                 สรุป ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการสร้างกติกา หรือกฎหมายซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการที่จะใช้พัฒนา
ประเทศ หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ มันยังวิปริต ขาดดุลยภาพซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะ กม.รธน.ที่ถือ
เป็น กม.สูงสุดในการปกครองประเทศได้แบ่งแยกอำนาจตามที่ มองเตสกิเออร์ และจอร์น ลอค ให้
ความหมายไว้ว่า ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของปวงชน และให้คิดทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจออกมาเป็น
อำนาจบริหาร , นิติบัญญัติ และ ตุลาการ ซึ่งหากจะปฎิรูประบบการเมืองไทยได้นั้นจะต้องสร้างกติกาหรือ
กฎหมายให้ดีเสียก่อน  
ข้าพเจ้าเห็นว่า ส่วนใดในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ไม่ดีเช่นที่ข้าพเจ้ากล่าวมาข้างต้น  ก็ควรจะมีการเอาออกไป  เพื่อขจัดปัญหา 2 มาตรฐานทั้งด้านการเมืองและด้านกฎหมาย เนื่องจากทั้งการเมืองและกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2550 ของประเทศไทยปัจจุบัน นั้นล้วน 2 มาตรฐาน              ควรแก้ไขเพื่อให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองของประเทศไทยเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือประโยชน์สุขของประชาชนในประเทศไทยตามปรัชญาและหลักมหาชน
                

1 ความคิดเห็น: