วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554

La 703 เตรียมสอบอ.กิจบดี By Took-Ka-Ta

                                                                                                                                Took-Ka-Ta KK.Ru.5
อธิบายปรัชญาและหลักกฎหมายมหาชนมีว่าอย่างไร  และเกี่ยวข้องกับการปกครองของประเทศไทยอย่างไร?
กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่บัญญัติอำนาจหน้าที่แก่รัฐ หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจทางปกครองระหว่างรัฐ หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ กับเอกชนหรือผู้มีสถานภาพที่ต่ำกว่า  การใช้อำนาจดังกล่าวจะต้องสามารถควบคุมตรวจสอบได้ ให้อยู่ในความพอเหมาะพอดีด้วย
กฎหมายมหาชน   มีที่มาเกิดจากปัญหาทางปกครองกล่าวคือ ประชาชนถูกกดขี่ข่มเหง  และขาดสิทธิเสรีภาพได้รับความเดือดร้อน    ไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดจากการใช้อำนาจปกครอง    เนื่องจาก อำนาจอยู่ที่คนๆ เดียว  ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการปกครอง  การใช้อำนาจตรวจสอบไม่ได้   
จากปัญหาดังกล่าวจึงเกิดแนวคิดแบ่งแยกอำนาจทางปกครอง  โดยจอห์น ล็อก  ชาวอังกฤษ มีรายละเอียด ดังนี้
1.             มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน
2.             การปกครองที่ดีจะต้องมีการแบ่งแยกอำนาจ
ต่อมา มองเตสกิเออ ลูกศิษย์ ของจอห์น ล็อก  ได้สนับสนุนหลักการแบ่งแยกอำนาจ และได้แบ่งแยกอำนาจการปกครอง เป็น 3 อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  อำนาจตุลาการ  โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพและประโยชน์ของประชาชน ด้วยวิธีตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจทั้ง 3
จากหลักการแบ่งแยกอำนาจได้พัฒนาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ
1.ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน (เกิดทฤษฎีเสมอภาค)
2.ผู้ที่เข้าไปมีอำนาจในการปกครองจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ก่อนจึงทำให้มีการเลือกตั้ง(เกิดทฤษฎีการมีส่วนร่วม)
3.เมื่อได้รับอำนาจในทางปกครองแล้วจะต้องใช้อำนาจนั้นเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ (เกิดทฤษฎีหลักการใช้กฎหมาย Rule of law หลักนิติธรรม)
4.การใช้อำนาจทางปกครองจะต้องตรวจสอบได้ (เกิดทฤษฎีตรวจสอบ)
จากหลักการของระบอบประชาธิปไตยได้เกิดหลักนิติรัฐ คือ หลักการปกครองโดยใช้กฎหมาย  หมายความว่า การใช้อำนาจในทางปกครองในทุกระดับจะต้องมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้ และการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวจะต้องสามารถควบคุมตรวจสอบได้ อยู่ในความพอเหมาะพอดีด้วย
จากนิติรัฐทำให้เกิดหลักกฎหมายมหาชน 

ประเทศไทยได้นำแนวคิด  ทฤษฎี ทั้งหมดที่กล่าวมาของกฎหมายมหาชนมาใช้เมื่อปีพ.ศ. 2475
รัฐธรรมนูญของประเทศไทยเป็นรัฐธรรมนูญนิยม Constitutionlism คือการใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการกำหนดรูปแบบของการปกครองโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะควบคุมการใช้อำนาจของรัฐ  ไม่ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน
                         กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ในการปกครอง เป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการบริหารปกครองประเทศ  และถือเป็นแม่บทของกฎหมายมหาชน  โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นองค์กรทางการเมืองต่าง ๆ ไว้เป็น 3 อำนาจ  คือ         
(1) อำนาจนิติบัญญัติ
(2) อำนาจบริหาร และ
(3) อำนาจตุลาการ 
นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มาของแต่ละอำนาจ     การใช้อำนาจของแต่ละอำนาจ  และการตรวจสอบถ่วงดุลแห่งอำนาจไว้    เพื่อป้องกันมิให้แต่ละอำนาจใช้อำนาจและหน้าที่จนทำให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้นได้รับความเดือนร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม
อำนาจนิติบัญญัติ  มีรัฐสภาเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจ  มีอำนาจหน้าที่ในการบัญญัติกฎหมาย ได้แก่ พรบ.ป.รธน. , พรบ. , พรก. , ปว. , ประมวลกฎหมาย หรือคำสั่งคณะทหาร
อำนาจบริหาร   มีคณะรัฐมนตรี เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจบริหาร    มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการและกำกับดูแล  ดังรายละเอียดต่อไปนี้
-บริหารราชการบริหารส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม
-บริหารราชการบริหารส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด อำเภอ
-กำกับดูแลราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ได้แก่ อบต. , อบจ. , เทศบาล , กทม. , พัทยา
-กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ
-กำกับดูแลหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐที่มิได้สังกัดกระทรวง , ทบวง , กรม เช่นธนาคารแห่งประเทศไทย  ตลาดหลักทรัพย์  โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ฯลฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย  มีพระราชบัญญัติจัดตั้งขึ้น
อำนาจตุลาการ มีศาลเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจในการพิจารณาดัดสินคดี
              ทั้ง 3 อำนาจเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญ   ต่างตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจซึ่งกันและกัน Check and Balance Power
              หน่วยงานที่ข้าพเจ้ากล่าวมาข้างต้นนั้น เรียกว่าหน่วยงานทางปกครองและมีกฎหมายเขียนให้อำนาจไว้ซึ่งคนที่ใช้อำนาจแทนหน่วยงานทางปกครองคือเจ้าหน้าที่
                การใช้อำนาจปกครองของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานทางปกครองดังกล่าว คือใช้อำนาจทางปกครองเกี่ยวกับการออกกฎ  คำสั่งทางปกครอง  การกระทำทางปกครอง  สัญญาทางปกครอง
กฎ ได้แก่ พระราชกฤษฎีกา , กฎกระทรวง , ประกาศกระทรวง , ระเบียบ , ข้อบังคับ , ข้อบัญญัติตำบล , ข้อบัญญัติจังหวัด , ข้อบัญญัติกทม. , ข้อบัญญัติพัทยา , เทศบัญญัติ
การออกกฎ  ต้องมีกฎหมายแม่บทไม่ว่าจะเป็น รัฐธรรมนูญ  พรบ.ป.รธน.  พรบ.  พรก. ให้อำนาจไว้    และขั้นตอนการออกกฎต้องชอบ  เมื่ออกกฎแล้วต้องกระทบต่อประชาชนแน่นอนเพราะฉะนั้นต้องไม่สร้างภาระเกิดแก่ประชาชนมากเกินไป
คำสั่งทางปกครอง  คือการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน  ระงับ ต่อสถานภาพและสิทธิของบุคคล  ไม่ว่าชั่วคราวหรือถาวรก็ตาม ตามนัยมาตรา 5 แห่ง พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
การออกคำสั่งทางปกครอง  ต้องมีกฎหมายกำหนดให้อำนาจในการออกคำสั่ง    กำหนดผู้ใช้กฎหมายหรือผู้ใช้อำนาจทางปกครอง  ใช้อำนาจตามกฎหมายนั้น เช่นการสั่งการ  การอนุมัติ  การอนุญาต  คำวินิจฉัยอุทธรณ์
การกระทำทางปกครอง  คือการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่มิใช่การออกกฎ  หรือคำสั่งทางปกครอง เช่น พรบ.เทศบาล ให้อำนาจเทศบาลในการดูแลเรื่องขยะ  การสร้างถนน  การขุดท่อระบายน้ำ  การสร้างตลาด ฯลฯ    หากเจ้าหน้าที่เทศบาลขุดถนนหรือวางท่อระบายน้ำ ใกล้ๆ ตึกแถว แล้วตึกแถวทรุด    การที่ตึกแถวทรุดดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดทางปกครองเนื่องจากเกิดจากการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่
สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่กระทำการแทนรัฐ  และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน เช่น สัมปทานรักนก  สัมปทานเหมืองแร่  สัมปทานป่าไม้  สัญญา 3 G   หรือเป็นสัญญาที่จัดทำบริการสาธารณะ เช่น สร้างสะพาน  สร้างถนน  หรือเป็นการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค เช่น เดินรถ  เดินเรือ  ไฟฟ้า  ประปา  หรือเป็นการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ก๊าซ  น้ำมัน  เป็นต้น
สัญญาทางปกครอง  มีกฎหมายกำหนดให้อำนาจทำสัญญา  มีผู้ใช้กฎหมายหรือใช้อำนาจทางปกครอง   การใช้อำนาจไปกระทบต่อประชาชนเช่นดำเนินการตามสัญญาทางปกครองแล้วเกิดกรณีพิพาท  ก็จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ
การตรวจสอบการใช้อำนาจจากการออกกฎ  คำสั่งทางปกครอง  การกระทำทางปกครอง หรือสัญญาทางปกครอง  ที่กล่าวมานั้นต้องนำคดีฟ้องศาลปกครอง
                 หากเป็นกรณีข้อพิพาทเรื่องกฎ  หรือคำสั่งทางปกครอง  ต้องอุทธรณ์คำสั่งก่อน ตามมาตรา 42 วรรค 2  แห่งพรบ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542  หากผู้ออกกฎหรือคำสั่งมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ยืนยันคำสั่งเดิม  ก็นำคดีฟ้องต่อศาลปกครอง  และศาลปกครองต้องสามารถออกคำบังคับตาม มาตรา 72 ได้
                  ส่วนกรณีพิพาทการใช้อำนาจทางปกครองเกี่ยวกับการกระทำ หรือสัญญาทางปกครอง  สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้โดยตรง  และต้องเป็นเรื่องที่ศาลสามารถออกคำบังคับตาม มาตรา 72 ได้เช่นกัน
                   ศาลปกครองต้องใช้หลักมหาชนมาพิจารณา เช่น หลักของความต่อเนื่อง  หลักของการแก้ไขเปลี่ยนแปลง  หลักของประโยชน์สาธารณะ ฯลฯ
                   เมื่อนำคดีสู่ศาลปกครองแล้วแล้ว  ศาลปกครองก็จะใช้หลักเดียวกันคือหลักมหาชนในการพิจารณาในการแก้ไขปัญหานั้น   ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
                   สรุป   1. อำนาจทางปกครอง มี 7 อำนาจ ได้แก่
1.             อำนาจนิติบัญญัติ
2.             อำนาจบริหาร
3.             อำนาจตุลาการ
4.             อำนาจเกี่ยวกับการออกกฎ
5.             อำนาจเกี่ยวกับการออกคำสั่งทางปกครอง
6.             อำนาจเกี่ยวกับการกระทำทางปกครอง
7.             อำนาจเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
ประเทศไทยดำเนินไปได้ด้วยอำนาจทางปกครองทั้ง 7 อำนาจ   ซึ่งเป็นอำนาจที่มาจากรัฐธรรมนูญ
พรบ.ป.รธน.  พรบ.  พรก.  ปว.  ประมวลกฎหมาย  หรืออาจจะมีกฎเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง    ทั้งหมดที่กล่าวมาคือสิ่งที่ให้อำนาจเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย
                      2.ผู้ใช้อำนาจปกครอง ได้แก่
 2.1. ผู้ใช้อำนาจปกครองตามรัฐธรรมนูญ คือ
        - รัฐสภา เป็นองค์กรใช้อำนาจนิติบัญญัติ
        - คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร
        - ศาลเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจตุลาการ
2.2. ผู้ใช้อำนาจทางปกครองเกี่ยวกับการออกกฎ  คำสั่งทางปกครอง  การกระทำทางปกครอง
สัญญาทางปกครอง คือหน่วยงานทางปกครอง ได้แก่
-ราชการบริหารส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม
-ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด อำเภอ
-ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ได้แก่ อบต. , อบจ. , เทศบาล , กทม. , พัทยา
-รัฐวิสาหกิจ
-หน่วยงานอื่นๆ ของรัฐที่มิได้สังกัดกระทรวง , ทบวง , กรม
                    3. มีกฎหมายกำหนดให้อำนาจปกครอง   มีผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ใช้กฎหมาย  ใช้อำนาจทาง
ปกครองแล้วหากเกิดมีผลกระทบเกิดเป็นกรณีพิพาทขึ้นมา    ก็เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบอำนาจต่างๆ นั้นว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  
                กรณีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องกฎ  คำสั่งทางปกครอง  การกระทำ  สัญญาทางปกครอง  ก็จะคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนโดยประชาชนสามารถนำคดีฟ้องต่อศาลปกครอง
                กรณีพิพาทเกี่ยวกับอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  ตุลาการ  หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ  ก็ให้นำคดีฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
               เมื่อนำคดีสู่ศาลแล้ว  ศาลก็จะใช้หลักเดียวกันคือหลักมหาชนในการพิจารณาในการแก้ไขปัญหานั้นทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
 จะเห็นได้ว่าหลักกฎหมายมหาชน ไม่ว่าจะเป็นหลักความเสมอภาค หลักมีส่วนร่วม หรือหลักอะไรก็แล้วแต่ทุกหลัก หรือทุกทฤษฎีที่กล่าวมานั้น  มีจุดประสงค์เดียวคือเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่จากการใช้อำนาจปกครอง





3 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากนะค่ะสำหรับเนื้อหา เป็นประโยชน์มาก ๆค่ะ ^____________^

    ตอบลบ
  2. คุณตุ๊กตา น๊าร๊าก แสนดี จิตใจงาม เป็นประโยชน์มาก ๆค่ะ ฮ่าๆๆ

    ตอบลบ
  3. คุณตุ๊กตาค่ะ มีช่องทางติดต่อมั้ยค่ะ จะรบกวนสอบถามเรื่องการศึกษาหน่อยค่ะ

    ตอบลบ